“ท้องอืด” อย่าปล่อยทิ้งไว้

“ท้องอืด” อย่าปล่อยทิ้งไว้

“ท้องอืด” อย่าปล่อยทิ้งไว้

Blog Article

ท้องอืด นานเกินกว่า 2 สัปดาห์ รับประทานยาแล้วไม่ดีขึ้น รวมถึงน้ำหนักลด ซีด เบื่ออาหาร ตัวเหลือง อาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคมะเร็ง
การทำงานแบบนั่งโต๊ะโดยไม่มีการออกกำลังกาย เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดอาการท้องอืดได้
ท้องอืด อย่าปล่อยทิ้งไว้
แม้ท้องอืดจะเป็นเพียงอาการ ไม่ใช่โรคร้ายแรง แต่ท้องอืดก็อาจเป็นอาการหนึ่งของโรคร้ายแรงได้ เช่น หากเกิดอาการท้องอืดนานเกินกว่า 2 สัปดาห์ รับประทานยาแล้วไม่ดีขึ้น รวมถึงน้ำหนักลด ซีด เบื่ออาหาร ตัวเหลือง อาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคมะเร็ง ดังนั้นถ้าท้องอืดอย่าปล่อยทิ้งไว้เด็ดขาด

อาการท้องอืด
อาการท้องอืด คือ ความรู้สึกว่ามีลมในกระเพาะอาหาร หรือลำไส้ ทำให้อึดอัดไม่สบายตัว อาจมีอาการปวดท้องคลื่นไส้ หรืออยากอาหารน้อยลง ซึ่งโดยปกติแล้วการมีลมหรือแก๊สในกระเพาะอาหารนั้นอาจเกิดจากการกินอาหาร ทั้งลักษณะอาหาร และชนิดของอาหาร การสูบบุหรี่ การเคี้ยวหมากฝรั่งเป็นประจำ หรือผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางกลุ่ม เช่น ยานอนหลับ ยากล่อมประสาท ยาคลายเครียด ซึ่งมีผลในการกดระบบประสาทและทำให้การบีบตัวของลำไส้ลดลงก็อาจส่งผลให้เกิดอาการท้องอืดได้เช่นกัน

สำหรับบางรายที่มีอาการท้องอืดมากหรือนาน อาจเนื่องมาจากโรคเกี่ยวกับทางเดินอาหาร เช่น โรคกระเพาะอาหารอักเสบ กระเพาะเป็นแผล มะเร็งทางเดินอาหารหรือลำไส้ มีการติดเชื้อพวกพยาธิ โรคลำไส้แปรปรวน หรือเป็นการทำงานที่ผิดปกติของลำไส้เอง รวมถึงโรคที่เกี่ยวกับระบบอื่นๆ เช่น ไทรอยด์ เบาหวาน ก็สามารถทำให้เกิดอาการท้องอืดร่วมด้วย ซึ่งต้องมีการตรวจเพิ่มเติม

ท้องอืด-ท้องเฟ้อ ต่างหรือเหมือนกัน
ท้องอืด-ท้องเฟ้อ เป็นคำรวมๆ ใช้เรียกอาการในกลุ่มลักษณะนี้ คือ มีแก๊สในกระเพาะอาหารมากจนรู้สึกอึดอัด แน่นท้อง ท้องอาจโตขึ้นหลังจากรับประทานอาหาร บางครั้งมีอาการคลื่นไส้ร่วมด้วย หรืออาจมีผายลมมากกว่าปกติ บางครั้งได้เรอหรือผายลมแล้วรู้สึกดีขึ้น

การรักษา
หากมีอาการดังที่กล่าวมา โดยไม่พบสัญญาณเตือน สามารถเลือกรับประทานยาขับลม หรือช่วยย่อย และปรับพฤติกรรมการกิน แต่ถ้าเป็นนานเกิน 2 สัปดาห์ อาการไม่ดีขึ้นหลังรับประทานยา ควรรีบพบแพทย์ เพื่อทำการตรวจสืบค้นสาเหตุของอาการโดยละเอียด

การดูแลตัวเองเบื้องต้น
หลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง ย่อยยาก
ไม่รับประทานอาหารครั้งละมากเกินไป
เคี้ยวอาหารให้ละเอียด
การทำงานแบบนั่งโต๊ะโดยไม่มีการออกกำลังกาย เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดอาการท้องอืดได้บ่อยขึ้น ดังนั้นจึงควรออกกำลังกายสม่ำเสมอต่อเนื่อง
หากเกิดอาการ ท้องอืดอย่าปล่อยทิ้งไว้ เพราะแม้ท้องอืดจะเป็นเพียงอาการ ไม่ใช่โรคร้ายแรง แต่ท้องอืดก็อาจเป็นอาการหนึ่งของโรคร้ายแรง หรือพัฒนาไปสู่โรคอื่นๆ ได้

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับอาการ ท้องอืด
อาการท้องอืด แน่นท้อง ท้องผูก และเหมือนพุงจะใหญ่ขึ้นด้วย เกิดจากสาเหตุอะไรได้บ้าง
อาการท้องผูก แน่นท้อง อาจเกิดจากพฤติกรรม เช่น รับประทานอาหารที่มีกากใยน้อย ดื่มน้ำน้อย ไม่ค่อยขยับร่างกาย หรืออาจเกิดจากยาบางตัวที่ทำให้ท้องผูก ที่พบได้บ่อยคือ แคลเซียม ธาตุเหล็ก หรือเกิดจากโรคประจำตัวบางอย่าง เช่น โรคฮอร์โมนไธรอยด์ต่ำ โรคทางระบบประสาท นอกจากนั้นอาจเกิดจากมีความผิดปกติของลำไส้เอง เช่น มะเร็งลำไส้

โดยปกติแล้วการขับถ่ายที่ดีควรเป็นอย่างไร
การขับถ่ายปกติคือการถ่ายไม่เกิน 3 ครั้งต่อวัน และไม่ต่ำกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์ โดยลักษณะอุจจาระต้องปกติ ไม่เหลว หรือแข็งเกินไป

ถ้าไม่ได้ขับถ่ายทุกวันจะถือว่าผิดปกติหรือไม่
ไม่ผิดปกติ ถ้าถ่ายวันเว้นวัน และอุจจาระไม่แข็ง หรือเป็นเม็ดๆ

ถ้าอยากให้การขับถ่ายกลับมาเป็นปกติควรทำอย่างไร
รับประทานอาหารที่มีกากใยมากๆ ผัก ผลไม้
ดื่มน้ำให้เพียงพอ วันละ ประมาณ 2 ลิตร ( 8 แก้ว ต่อวัน)
ฝึกถ่ายอุจจาระให้เป็นเวลา
ออกกำลังกายสม่ำเสมอ

Details

Report this page